Sunday, April 24, 2011

เรื่อง “ศิลปะของชีวิต” ( Art of Life) จาก “ ฟป.4:11-13 ”

คำเทศนา อาทิตย์ที่ 7 ก.พ. 10 “รอบเช้า” -1- โดย ศจ.นิรุทธิ์ จันทร์ก้อน

เรื่อง “ศิลปะของชีวิต” ( Art of Life) จาก “ ฟป.4:11-13 ”

ฟป.4:11-13 ข้าพเจ้าไม่ได้บ่นถึงเรื่องความขัดสน เพราะข้าพเจ้าจะมีฐานะอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าก็เรียนรู้แล้วที่จะพอใจอยู่อย่างนั้น ข้าพเจ้ารู้จักที่จะเผชิญกับความตกต่ำ และรู้จักที่จะเผชิญกับความอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าในกรณีใดๆข้าพเจ้ารู้จักเคล็ดลับที่จะเผชิญกับความอิ่มท้องและความอดอยาก ความสมบูรณ์พูนสุข และความขัดสนข้าพเจ้าผจญทุกสิ่งได้ โดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า
ความงดงามและคุณค่าของสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นจาก “ศิลปะ”
รูปภาพจะงดงาม ผลงานแกะสลักจะมีคุณค่า จะต้องอาศัยศิลปะของผู้ชำนาญการ
ในการใช้ชีวิตของมนุษย์ก็เช่นกัน การมีศิลปะในการดำเนินชีวิต เป็นเรื่องสำคัญมาก และเราจำเป็นต้องใช้ศิลปะในทุกเรื่องของชีวิต ทั้งการกิน การทำงาน การอยู่ในสังคม การปรับตัว ... รวมไปถึงด้านคุณค่าของชีวิต ขึ้นกับศิลปะของชีวิตทั้งสิ้น

พระวจนะตอนนี้ เปาโลสอนเราผู้เป็นลูกของพระเจ้า ... เรายังเป็นเหมือนคนทั่วไป แต่ที่เราแตกต่าง คือ เรามีพระเจ้า เราเป็นคนของพระเจ้า เราเป็นทั้งมนุษย์โลกและมนุษย์ฝ่ายวิญญาณ
พระวจนะใน ฟป.4:13 ที่ว่า “ข้าพเจ้าผจญทุกสิ่งได้ โดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า”
ปรัชญา แนวคิด ทัศนคติของโลกเข้าไม่ถึง แต่ลูกของพระเจ้าเข้าถึงได้
เราจะทำอย่างไร จึงจะเป็นสุขได้ในทุกกรณี หรือทำอย่างไรในความทุกข์เราจะสามารถชื่นชมยินดีได้ คำตอบนั้น คือ ต้องมีศิลปะของชีวิต

ฟป.4:11-13 สอนเราเรื่องศิลปะของชีวิต ดังนี้
1. ไม่บ่นถึงความขัดสน
ฟป.4:11 ข้าพเจ้าไม่ได้บ่นถึงเรื่องความขัดสน...
เปาโล สอนเราถึงศิลปะในการดำเนินชีวิตให้มีความสุขได้ทุกสถานการณ์ คือ ต้องไม่บ่นถึงความขัดสน
ไม่บ่นถึงความขัดสน ไม่ได้หมายถึง ไม่ขัดสน
เปาโล ต้องเผชิญกับความขัดสนด้านความสะดวกสบายในการทำงาน ขัดสนปัจจัยในการรับใช้พระเจ้า
แต่ท่านไม่บ่นถึงความขัดสนนั้น ซึ่งเป็นศิลปะอย่างหนึ่งของชีวิต

ไม่เพียงเปาโลเท่านั้นที่ขัดสน เราทุกคนขัดสนและขาดแคลนบางสิ่งบางอย่างในชีวิตเสมอ
ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน ไม่ว่าจะเรียนสูงหรือเรียนต่ำ เราขัดสนกันทุกคน
คนรวยไม่ขาดเงิน แต่ขาดมิตรแท้ คนจนไม่ขาดมิตร แต่ขาดเงิน
บางคนขัดสนคนเข้าใจ ขัดสนคนรัก ขัดสนปัญญา ฯลฯ
จำไว้เลยว่า ในโลกนี้ไม่มีใครได้อะไรเต็มร้อย แม้พระเจ้าเองยังไม่ได้จากมนุษย์เต็มร้อย
มนุษย์ด้วยกันจึงไม่มีทางที่จะตอบสนองความต้องการของกันและกันได้ทุกเรื่อง
และธรรมชาติชีวิตมนุษย์มักเรียกร้องจากคนอื่นมากกว่าที่ควรเสมอ
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราขัดสนและขาดแคลนบางอย่างในชีวิต

แต่ท่ามกลางความขัดสนขาดแคลนนั้น เรามีสุขได้ถ้าใช้ศิลปะเช่นเดียวกับเปาโล
ในความขัดสนนั้น เปาโลไม่บ่น ไม่ยอมแพ้ และไม่ยอมจำนน
คำเทศนา อาทิตย์ที่ 7 ก.พ. 10 “รอบเช้า” -2- โดย ศจ.นิรุทธิ์ จันทร์ก้อน

นี่จึงเป็นเหตุให้พระวจนะที่เปาโลเขียนไว้ใน รม.8:37 สำเร็จในตัวท่านและสามารถหนุนใจผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
“แต่ว่าในเหตุการณ์ทั้งปวงเหล่านี้ เรามีชัยเหลือล้นโดยพระองค์ผู้ได้ทรงรักเราทั้งหลาย”
“ในเหตุการณ์ทั้งปวงที่ว่านั้น คือ ความทุกข์ ความยากลำบาก การเคี่ยวเข็ญ การกันดารอาหาร การเปลือยกาย
การถูกโพยภัย หรือการถูกคมดาบ (รม.8:35)”

ค่าของคนนั้นไม่ได้วัดกันที่ผลของงานด้านเดียวเสมอไป แต่วัดกันที่ขนาดของปัญหาที่ต้องเผชิญด้วย ...
ปัญหายิ่งมาก แต่ยังนิ่งอยู่ได้ แสดงว่า มีวุฒิภาวะความเป็นผู้นำสูง
อะไรที่ง่ายๆ อะไรที่สบายๆ ใครๆ ก็ทำได้ แต่อะไรที่ยากๆ บางคนเท่านั้นที่จะทำได้
คนที่จะทำได้ ต้องเห็นแก่งาน เห็นแก่ส่วนรวม เห็นแก่พระเจ้าก่อน ส่วนตัวเองมาทีหลังสุด
เปาโล สามารถทำงานที่รับมอบหมายจากพระเจ้าได้สำเร็จลุล่วง ก็เพราะจุดนี้
ไม่กลัวความลำบาก ไม่กลัวความขัดสน และไม่บ่น เพราะเห็นแก่พระเจ้า

ข้าพเจ้ากล่าวเสมอๆ ว่า “ทุกสิ่งที่มากระทบชีวิตของเรา จะวัดเรา สอนเรา และสร้างเรา”
เช่น เจอปัญหานี้ ทำไมเราตัดสินใจอย่างนี้ เจอคนนั้น ทำไมเรามีปฏิกิริยาเป็นอย่างนี้ เป็นต้น
เปาโลเป็นผู้นำสูงสุดคนหนึ่งระดับโลก สอนเราให้รู้ว่า
หน้าที่ของผู้นำ คือ ต้องสามารถทำงานและใช้ชีวิตกับทุกคนได้ แม้คนที่ไม่น่ารักก็ตาม
ซึ่งการที่จะทำได้ ต้องมีศิลปะของชีวิต และการไม่บ่นก็เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะนั้น

ความงามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ คือ รอยยิ้ม ในขณะเดียวกันสิ่งที่น่าเกลียดที่สุดของมนุษย์ คือ การบ่น
ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้คนบ่น การบ่น ทำให้ผู้คนอยากอยู่ห่างไกลจากตัวเรา
แทนที่จะบ่น เราควรเอาเวลานั้นไปทำงานดีกว่า
ปากของผู้อื่นเราห้ามไม่ได้ ใครจะนินทา ใครจะต่อว่าเรา เราห้ามไม่ได้ แม้พระเยซูคริสต์ยังโดนต่อว่าจากมนุษย์
แต่สิ่งที่เราห้ามได้ คือ ปากของเราเอง ต้องบังคับ ต้องควบคุมมัน ใช้มันให้เป็นประโยชน์
ยก.3:2 เพราะเราทุกคนทำผิดพลาดไปหลายๆอย่าง ถ้าผู้ใดมิได้ทำผิดทางวาจา ผู้นั้นก็เป็นคนดีรอบคอบแล้ว และสามารถบังคับทั้งตัวไว้ได้ด้วย

พระเยซูคริสต์สอนให้เราเป็นเกลือและเป็นแสงสว่าง ... ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน มีสภาพอย่างไร เราต้องไม่บ่น
ท่ามกลางความมืด เราต้องเป็นความสว่าง ท่ามกลางความเหม็น เราต้องเป็นกลิ่นหอมของพระเจ้า
นี่แหละ ศิลปะของชีวิตที่แท้จริง

2. เรียนรู้ที่จะพอใจ
ฟป.4:11 ...เพราะข้าพเจ้าจะมีฐานะอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าก็เรียนรู้แล้วที่จะพอใจอยู่อย่างนั้น
ศิลปะของชีวิตนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องไม่บ่นเท่านั้น แต่เปาโลยังสอนให้เราเรียนรู้ที่จะพอใจด้วย
“พอใจ” ไม่ได้หมายถึง การดับไฟในการทำงานหรือดับไฟของความก้าวหน้า
แต่พอใจ คือ การเรียนรู้ที่จะชื่นชมยินดีได้ในทุกสภาวะ
เรามีอะไร เราเป็นอย่างไร ต้องเรียนรู้ที่จะพอใจอยู่อย่างนั้น
เช่น มีสามีภรรยาเป็นคนอย่างไร ก็พอใจในเขาหรือเธอที่เป็นอย่างนั้น
มีงานอย่างไร ก็พอใจในงานนั้น มีกินอย่างไร ก็พอใจในการกินอย่างนั้น
คำเทศนา อาทิตย์ที่ 7 ก.พ. 10 “รอบเช้า” -3- โดย ศจ.นิรุทธิ์ จันทร์ก้อน

การไม่เรียนรู้จักที่จะพอใจ เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความทุกข์ในชีวิต
เรียนรู้จักที่จะพอใจ คือ การยอมรับความจริง เคล็ดลับของความสุข คือ การยอมรับความจริง

มีพระคัมภีร์หลายตอนที่สนับสนุนให้เรายอมรับความจริง
ยน.8:32 และท่านทั้งหลายจะรู้จักสัจจะ และสัจจะจะทำให้ท่านทั้งหลายเป็นไท
อฟ.4:15 แต่ให้เรายึดความจริงด้วยใจรัก เพื่อจะจำเริญขึ้นทุกอย่างสู่พระองค์ผู้เป็นศีรษะ คือพระคริสต์
อฟ.6:14 เหตุฉะนั้นท่านจงมั่นคง เอาความจริงคาดเอว เอาความชอบธรรมเป็นทับทรวงเครื่องป้องกันอก
การยอมรับความจริง จะทำให้เราเป็นไท ทุกข์ที่มีก็จะหายไป มันไม่สามารถหลอกเราได้อีกต่อไป
ในขณะเดียวกัน การไม่ยอมรับความจริง เป็นการต่ออายุความทุกข์ให้กับชีวิต
ความจริง คือ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราต้องยอมรับให้ได้ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว
อย่าปิดตาข้างเดียว หรือทำเหมือนปัญหานั้นไม่ได้เกิดขึ้น
ลูกของพระเจ้าต้องท่องไว้ ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ใช่มีไว้ให้กลุ้ม

ศิลปะของชีวิต คือ กล้าที่จะยอมรับความจริง กล้าที่จะยอมรับความบกพร่องของตัวเองและผู้อื่น
การยอมรับนี้เอง เป็นกุญแจที่จะทำให้เราอดทนนานและพร้อมที่จะกระทำคุณให้
1คร.13:4 ความรักนั้นก็อดทนนานและกระทำคุณให้ ความรักไม่อิจฉา ไม่อวดตัว
ถ้าเราไม่ยอมรับความจริง เราไม่สามารถที่จะกระทำได้
แต่การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะยอมรับความจริงได้ จำเป็นต้องใช้ทักษะ และวุฒิภาวะในการปรับตัว
ไม่เรื่องมาก ไม่เสแสร้ง แต่สามารถร่วมชีวิตกับทุกคนได้
ไม่ว่าจะมีฐานะอย่างไร เปาโล เรียนรู้ที่จะพอใจอย่างนั้น ยอมรับความจริงได้
ตัวเราสามารถเรียนรู้ที่จะพอใจ และยอมรับฐานะของตัวเองได้หรือไม่?

3. รู้จักเผชิญ รู้จักปรับตัว
ฟป.4:12 ข้าพเจ้ารู้จักที่จะเผชิญกับความตกต่ำ และรู้จักที่จะเผชิญกับความอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าในกรณีใดๆข้าพเจ้ารู้จักเคล็ดลับที่จะเผชิญกับความอิ่มท้องและความอดอยาก ความสมบูรณ์พูนสุข และความขัดสน
เปาโล มีศิลปะของชีวิต
เปาโล “รู้จัก” ที่จะเผชิญ “รู้จัก” ที่จะปรับตัว ...
เพราะการรู้จักในสิ่งต่างๆ นี่แหละ ทำให้ชีวิตของเปาโลมีคุณค่าและความงดงาม
สามารถยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางปัญหาและสถานการณ์ต่างๆ ของชีวิต

เปาโล ไม่เพียงรู้ว่าควรทำอย่างไร แต่ท่านสามารถทำได้อย่างที่ท่านรู้
คนส่วนใหญ่ขับรถได้ แต่น้อยคนจะขับรถเป็น คนส่วนใหญ่พูดได้ แต่น้อยคนจะพูดเป็น
หลายคนรู้โน่น รู้นี่ แต่ไม่รู้จักที่จะปรับตัวและเผชิญต่อสิ่งดังกล่าว
การรู้จักเผชิญ คือ การรู้เรา รู้เขา กล้าเผชิญ กล้าปรับตัว

ในการศึกสงคราม ในการรบนั้น รู้แต่เรา ไม่รู้เขาไม่ได้ แต่ในทำนองเดียวกัน รู้เขา แต่ไม่รู้เราก็ไม่ได้
หลักการใช้ชีวิตก็เหมือนหลักการรบในสงคราม
ต้องรู้เรา คือ รู้ว่าเรามีดีอะไร เราเก่งอะไร เราถนัดอะไร เรามีจุดแข็งตรงไหน
คำเทศนา อาทิตย์ที่ 7 ก.พ. 10 “รอบเช้า” -4- โดย ศจ.นิรุทธิ์ จันทร์ก้อน

และต้องรู้เขา คือ รู้จักปัญหาและสถานการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
ทั้งความตกต่ำ ความอุดมสมบูรณ์ ความอิ่มท้องและความอดอยาก
เปาโล รู้จักตัวเอง และรู้จักปัญหา ... ท่านกล้าเผชิญ กล้าปรับตัว นี่คือสุดยอดศิลปะหนึ่งของชีวิต

ตัวอย่างบางส่วนของการรู้จักเผชิญ รู้จักปรับตัวของเปาโล
3.1 เปาโล รู้จักเผชิญทุกสภาพของชีวิต
รม.8:35-39 แล้วใครจะให้เราทั้งหลายขาดจากความรักของพระคริสต์ได้เล่า จะเป็นความทุกข์ หรือความยากลำบาก หรือการเคี่ยวเข็ญ หรือการกันดารอาหาร หรือการเปลือยกาย หรือการถูกโพยภัย หรือการถูกคมดาบหรือตามที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า เพราะเห็นแก่พระองค์ ข้าพระองค์จึงถูกประหารวันยังค่ำ และนับว่าเป็นแกะสำหรับจะเอาไปฆ่าแต่ว่าในเหตุการณ์ทั้งปวงเหล่านี้ เรามีชัยเหลือล้นโดยพระองค์ผู้ได้ทรงรักเราทั้งหลายเพราะข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า แม้ความตาย หรือชีวิต หรือบรรดาทูตสวรรค์ หรือเทพเจ้า หรือสิ่งซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันนี้ หรือสิ่งซึ่งจะมีในภายหน้า หรือฤทธิ์เดชทั้งหลายหรือซึ่งสูง หรือซึ่งลึก หรือสิ่งใดๆอื่นที่ได้ทรงสร้างแล้วนั้น จะไม่สามารถกระทำให้เราทั้งหลายขาดจากความรักของพระเจ้า ซึ่งมีอยู่ในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้
สถานการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเปาโลมีมากมาย
แต่ไม่ว่าจะด้วยสภาพอย่างไร ทั้งความทุกข์ ความยากลำบาก การเคี่ยวเข็ญ
การถูกตามล่า การถูกตามฆ่า ... เปาโล ยังคงมีชัยเหลือล้นและผ่านมันมาได้
นี่คือคนเก่งจริง คนแกร่งจริง

อย่างที่ข้าพเจ้าเคยพูด คือ จะวัดคนว่าเก่งจริงหรือไม่ วัดจาก 2 ขนาด
คือ ขนาดของงานที่เขาทำ และขนาดของปัญหาที่เขาต้องเผชิญ
ยิ่งปัญหาใหญ่ เราสามารถผ่านมาได้ แสดงถึง วุฒิภาวะและความเก่งของเราที่ใหญ่กว่านั้น
ศิลปะของชีวิต คือ ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว เรียนรู้ที่จะเผชิญกับความจริงของโลก
เปาโลผ่านมาได้ เป็นแบบอย่างให้ลูกของพระเจ้าผ่านได้ทุกคน

ถ้าจะเทียบระหว่างคนสมัยก่อนกับคนสมัยปัจจุบัน ความยากลำบากเทียบกันไม่ได้เลย
เมื่อก่อนเครื่องอำนวยความสะดวกสบายแทบไม่มีอะไรเลย
ไม่มีทีวี ไม่มีวิทยุ ไม่มีอินเตอร์เนต ไม่มีรถยนต์ ไม่มีเครื่องปรับอากาศ
เขาก็อยู่กันมาได้ มีอายุยืนยาว และมีความสุขกันดี
แต่ในปัจจุบัน เมื่อเราขาดเครื่องอำนวยความสะดวกบางอย่าง ดูเหมือนบางคนจะเป็นจะตายให้ได้
นั่นเพราะไม่รู้จักที่จะปรับตัว และไม่กล้าเผชิญความจริง
ถ้าเราไม่กล้าเผชิญกับความจริง เราก็ไม่สามารถอยู่ในโลกแห่งความจริงได้
เราต้องมีแนวคิดที่ถูกต้อง ต้องมีแนวคิดจากพระเจ้า และใช้ศิลปะอย่างพระเจ้าในการดำเนินชีวิต

3.2 ศิลปะในการเข้าใจคน ทำงานกับคน และอยู่ร่วมกับคน
1คร.9:19-23 เพราะถึงแม้ว่าข้าพเจ้ามิได้อยู่ในบังคับของผู้ใด ข้าพเจ้าก็ยังยอมตัวเป็นทาสรับใช้คนทั้งปวง เพื่อจะได้ชนะใจคนมากยิ่งขึ้น ต่อพวกยิวข้าพเจ้าก็เป็นยิว เพื่อจะได้พวกยิว ต่อพวกที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ ข้าพเจ้าก็เป็นเหมือนคนอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ (แต่ตัวข้าพเจ้ามิได้อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ) เพื่อจะได้คนที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัตินั้น ต่อคนที่อยู่นอกธรรมบัญญัติข้าพเจ้าก็เป็นคนนอกธรรมบัญญัติ เพื่อจะได้คนที่อยู่นอกธรรมบัญญัตินั้น แต่ข้าพเจ้ามิได้อยู่นอกพระบัญญัติของพระเจ้า แต่อยู่ใต้พระ

คำเทศนา อาทิตย์ที่ 7 ก.พ. 10 “รอบเช้า” -5- โดย ศจ.นิรุทธิ์ จันทร์ก้อน

บัญญัติแห่งพระคริสต์ ต่อคนอ่อนแอข้าพเจ้าก็เป็นคนอ่อนแอเพื่อจะได้คนอ่อนแอ ข้าพเจ้ายอมเป็นคนทุกชนิดต่อคนทั้งปวง เพื่อจะช่วยเขาให้รอดได้บ้างโดยทุกวิถีทาง ข้าพเจ้าทำอย่างนี้ เพราะเห็นแก่ข่าวประเสริฐเพื่อข้าพเจ้าจะได้มีส่วนในข่าวประเสริฐนั้น
พระวจนะตอนนี้ เปาโลสอนเราเรื่องการเข้าใจคน ทำงานกับคนและอยู่ร่วมกับคน
กุญแจดอกสำคัญ คือ การยอมเป็นคนทุกชนิด
เปาโล ผู้รับใช้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งคริสตจักรตั้งแต่กรุงเยรูซาเล็มจรดโรม
เป็นคนยิ่งใหญ่ที่ยอมเล็กลง เป็นผู้นำที่ยอมตัวเป็นทาสทุกคนด้วยสมัครใจ
ยอมเป็นคนชนิดนั้น ไม่ได้หมายถึง เป็นอย่างเขา
ต่อคนอ่อนแอ เข้าใจคนอ่อนแอ แต่ไม่ได้เป็นคนอ่อนแอ
ต่อคนโง่ เข้าใจคนโง่ แต่ไม่ได้เป็นคนโง่
ใครบ้างอยากจะอ่อนแอ ใครบ้างอยากจะโง่ เราต้องเข้าใจทุกคน แต่ไม่ได้เป็นอย่างทุกคน

หลักการทำงานและอยู่ร่วมกับคน มีปัจจัยที่เราต้องเข้าใจดังนี้
ความเก่งของคน ... คนมี 4 เก่ง
คือ เก่งเรียน เก่งงาน เก่งคิด และเก่งคน
เก่งบางอย่างใช่ว่าจะหมายความว่าเก่งทุกอย่าง เราต้องเข้าใจด้วย
บางคนเก่งเรียน แต่คิดไม่เก่ง ทำงานกับคนไม่เก่งก็มี
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นคนหนึ่งที่เรียนไม่เก่ง แต่คิดเก่ง ก็ประสบความสำเร็จในแบบฉบับของเขาเอง
ปราชญ์และนักปรัชญาส่วนใหญ่เรียนไม่เก่ง เพราะคิดเก่งกว่าครู
แต่ความเก่งทุกอย่าง จบลงที่เก่งคน เพราะท้ายที่สุดเราทำงานกับคน เราอยู่เพื่อคน
เรียนก็เรียนเพื่อคน คิดก็คิดเพื่อคน ทำงานก็ทำงานเพื่อคน
ดังนั้น การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคน ก็ต้องเข้าใจความเก่งในแต่ละด้านของคน
เพื่อที่เราจะสามารถเข้าใจ เข้าถึงและชนะใจของแต่ละคนได้

ความคิด 3 ระดับของคน
ความคิดระดับต่ำที่สุด คือ คิดเรื่องผู้คน
คนโน้นเป็นอย่างนี้ คนนี้เป็นอย่างนั้น พูดนินทา วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น
นี่คือความคิดของคนระดับล่างสุด ซึ่งแม้แต่คนมีฐานะดี หรือเรียนสูง ก็สามารถมีความคิดในระดับนี้ได้เช่นกัน
ความคิดระดับที่สอง ความคิดระดับกลาง คือ คิดเรื่องเหตุการณ์
พูดคุยถึงเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ใช่เรื่องผู้คน
ความคิดระดับที่สูงที่สุด คือ คิดเรื่องแนวคิด อุดมการณ์
เป็นความคิดที่สูงที่สุด เพราะความคิดคน กำหนดวิถีชีวิตของคน
เมื่อปรัชญาชีวิตถูก ก็บริหารชีวิตถูก และคนที่มีความคิดในระดับนี้แหละที่เคลื่อนโลกได้

เปาโล เป็นหนึ่งในผู้ที่มีความคิดระดับสูง วิถีชีวิต การทำงานของท่านจึงเคลื่อนโลกได้
เปาโล ไม่เพียงมีศิลปะในการทำงานกับคนหรือเข้าใจคนเท่านั้น
แต่ท่านมีศิลปะในการใช้ชีวิตในทุกเรื่อง ซึ่งเราสามารถนำศิลปะเหล่านี้มาปรับใช้ในชีวิตของเราได้เช่นกัน

No comments:

Post a Comment